ภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ
กรนเรื่องบนเตียงที่อาจทำให้ท่านตายได้เมื่อพูดถึงการนอนกรน จะมีคนจำนวนมากที่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่มีความรู้สึกว่าเป็นความผิดปกติที่จะต้องมารับการรักษา จริง ๆ แล้วนอกเหนือจากเป็นการบั่นทอนสัมพันธภาพที่มีต่อเพื่อนร่วมห้องนอนแล้วการกรนอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะความผิดปกติบางอย่างที่อาจทำให้มีผลเสียทางสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาได้
ภาวะกรน
ภาวะกรน คือ กลไกสำคัญของการหายใจคือการที่มีอากาศผ่านเข้าไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างคือในปอดผ่านทางช่องทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ ช่องปาก คอ คนปกติเวลานอนหลับกล้ามเนื้อของทางเดินหายใจส่วนบนที่ทำหน้าที่ในการขยายทางเดินหายใจจะมีการคลายตัวและกลไกการกระตุ้นการหายใจจะลดลง ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนมีลักษณะที่แคบกว่าเดิม ภาวะดังกล่าวเมื่อร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น ลิ้นตกลงไปในทางเดินหายใจ มีก้อนในทางเดินหายใจ จะทำให้เกิดเสียงกรนเกิดขึ้น พบว่าในบางภาวะเสียงกรนอาจดังกว่าปกติได้ เช่น ถ้ามีการดื่มเหล้า หรือมีอาการเพลียมาก ทำให้นอนหลับลึก ก็จะทำให้มีอาการกรนมากขึ้น และในบางรายการกรนอาจมีความสัมพันธกับการนอนบางท่า เช่น การนอนหงาย ในกรณีที่ทางเดินหายใจส่วนบนมีขนาดแคบลง ถึงจุดหนึ่งจะเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจเกิดขึ้น ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจได้ ซี่งช่วงนี้จะสังเกตได้ว่าเสียงกรนของผู้ป่วยที่ดังมาอย่างต่อเนื่องจะเงียบหายไปเป็นช่วง ๆ เนื่องจากไม่มีลมผ่านเข้าไปในปอด ถ้าการอุดกั้นเกิดขึ้นสักระยะหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเลือด หัวใจเต้นเร็ว และผู้ป่วยก็จะตื่นหรือนอนหลับต่อไปไม่ได้
ผลเสีย
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้บ่อยๆทั้งคืนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วยตามมาคือ
- ผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่สนิท ทำให้มีอาการง่วงนอนมากเวลากลางวัน มีความสามารถในการทำงานลดลง และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับรถยนตร์หรือประกอบอาชีพต่างๆ ได้สูงขึ้น เชื่อว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ผู้ป่วยหลับในส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากผู้ขับรถที่มีภาวะการนอนหลับที่ผิดปกติ และมีอาการง่วงนอนในเวลากลางวันและหลับในทำให้ขับรถชน
- ผู้ป่วยจะมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นช่วงๆ ทำให้มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง โรคเส้นโลหิตสมองตีบหรือแตกง่ายขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่
- มีผลเสียในทางสังคมและเป็นที่รบกวนผู้ร่วมห้องนอน อันนี้มักเป็นปัญหาของผู้อื่นมากกว่าเป็นปัญหาของผู้ป่วยเอง
อาการของผู้ป่วย
ภาวะนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- อ้วน น้ำหนักเกิน
- นอนกรน ซึ่งมักมีลักษณะที่ผิดปกติบริเวณใบหน้าและช่องปากที่ส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนมีลักษณะแคบลง ผู้ป่วยมักมีประวัติว่ามีการกรนเสียงดังและหยุดกรนเป็นช่วงๆ
- ผู้ที่มีอาการนอนหลับมากและง่วงนอนในเวลากลางวัน
- อาจพบว่ามีความดันโลหิตสูง
ผู้ที่เป็นคนพาผู้ป่วยมาพบแพทย์มักจะเป็นคู่สมรสหรือคนที่นอนห้องเดียวกัน เนื่องจากมักจะสังเกตว่าผู้ป่วยกรนเสียงดังและมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ แล้วมีความกังวลว่าผู้ป่วยอาจขาดใจตายไปเลย (หรือส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทนเสียงกรนไม่ไหว) แล้วจึงพยายามลากผู้ป่วยมาพบกับแพทย์ โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่ได้คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาใดๆ ของตนเองเลยแม้แต่น้อย
การประเมินผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีการหายใจที่ผิดปกติ
เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาที่แพทย์สงสัยว่ามีปัญหาการหายใจที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ แนวทางการตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมคือการทำการตรวจการนอน (polysomnogram) โดยผู้ป่วยจะต้องมานอนที่ห้องตรวจการนอนเพื่อประเมินว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างการนอน ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามวัดตัวแปรที่สำคัญ เช่น จังหวะการหายใจ ลมหายใจที่เข้าออกจากปอด ระดับออกซิเจนในเลือด คลื่นสมองเพื่อดูว่าผู้ป่วยหลับหรือตื่นบ่อยแค่ไหนระหว่างช่วงการนอน และผู้ป่วยจะมานอนที่ห้องตรวจการนอนตลอดเวลา 1 คืน และแพทย์จะทำการประเมินจากผลการตรวจว่าเกิดความผิดปกติระหว่างการนอนหรือไม่ และควรต้องได้รับการรักษาอย่างไร การตรวจการนอนจะได้ประโยชน์ในผู้ป่วยที่นอนหลับระหว่างการตรวจ ต้องเน้นนะครับว่าในผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับหรือหลับยาก การตรวจการนอนมักจะไม่ได้ประโยชน์หรือช่วยในการรักษาผู้ป่วยมากนัก
แนวทางการรักษา
ในขั้นตอนแรก หลังจากการประเมินของแพทย์ ถ้าแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับ ต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจการนอน ถ้าพบว่ามีความผิดปกติจึงเลือกการรักษาที่เหมาะสม
แนวทางการรักษาจะประกอบด้วย
- การรักษาโดยทั่วไป เช่น พยายามลดน้ำหนัก ปรับสุขนิสัยการนอนให้เหมาะสม งดการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
- การให้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางหน้ากากระหว่างการนอน (continuous positive airway pressure, CPAP) โดยผู้ป่วยจะเป็นผู้ใส่อุปกรณ์นี้เวลานอนหลับด้วยตนเอง
- การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม (dental appliance) เพื่อช่วยให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นขณะนอนหลับ พบว่าวิธีนี้ มักจะได้ผลไม่ดีนัก และเลือกใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
- การผ่าตัด พบว่าจะช่วยรักษาอาการกรนได้ดี แต่สำหรับการอุดกั้นของทางเดินหายใจผลที่ได้จากการผ่าตัดยังไม่แน่นอน ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเป็นรายๆ ไป และปรึกษาเฉพาะแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง
บทความโดย
รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย