อาจารย์วีรวัฒน์ ทางธรรม
การมีสุขภาพช่องปากที่ดีมีความสำคัญกับผู้สูงอายุเพราะฟันของผู้สูงอายุที่เหลืออยู่ มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้งานมายาวนาน หรือมีโรคที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนถึงวัยสูงอายุ มีการสูญเสียฟัน เกิดช่องว่าง ทำให้การดูแลรักษาความสะอาดทำได้ยากกว่าฟันทั่ว ๆ ไป ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากดีจะช่วยให้รู้สึกสบาย รับประทานอาหารได้อร่อยและหลากหลายประเภท มีร่างกายแข็งแรง ช่วยการพูดออกเสียงได้ชัดเจน ไม่ต้องกังวลในการเข้าสังคมและส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง
1. ฟันผุและรากฟันผุ โรคฟันผุ มีปัจจัยเสี่ยงคือ ความเจ็บป่วยของโรคทางร่างกาย
2. โรคปริทันต์ โรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง ลุกลามเป็นโรคปริทันต์อักเสบ มีผลไปถึงเอ็นยึดฟันและกระดูกเบ้าฟัน ทำให้ฟันโยก
3. ฟันสึก ฟันสึกจากด้านบดเคี้ยวมักพบในฟันกราม จากการขบเคี้ยวอาหารแข็ง หรือกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูงบ่อย ๆ หรือใช้เฉพาะบริเวณนั้นเคี้ยวอาหารอย่างต่อเนื่อง
4. น้ำลายแห้ง จากการหลั่งน้ำลายลดลง และอาจเกิดจากการรับประทานยารักษาโรคทางระบบหลายชนิดเป็นเวลานาน ภาวะปากแห้งทำให้เคี้ยว กลืน พูดลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ อาจพบการติดเชื้อรา และมีอาการปวดแสบปวดร้อนในปาก
การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ
1. การทำความสะอาด
การเลือกใช้แปรงสีฟัน ควรเลือกใช้แปรงที่มีด้ามจับได้ถนัดมือ ยาวพอเหมาะ ส่วนตัวแปรงไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดช่องปาก มีขนแปรงที่นิ่ม ปลายมน และควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน เมื่อขนแปรงบาน
วิธีแปรงฟัน ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ร่วมกับการใช้ยาสีฟันชนิดครีมที่ผสมฟลูออไรด์ นานประมาณ 2 นาที โดยแปรงให้ทั่วถึง ทุกซี่ ทุกด้าน โดยเฉพาะคอฟันและซอกฟัน หลังแปรงฟันแล้ว อาจจะแปรงทำความสะอาดลิ้นเบา ๆ และเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ที่เหมาะสมร่วม
เอกสารอ้างอิง:
กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. เรื่องน่ารู้สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก : http:// dental.anamai.moph.go.th/oralhealth/PR/E-book/elderly/keld.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 21 สิงหาคม 2564).